JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0
สินค้า

84 พรรษา มหาราชา “พระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์”

2011-12-03 12:47:46 ใน บทความแนะนำ.. » 0 2446



84 พรรษา มหาราชา “พระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์”
 



60 กว่าปีของการครองราชย์ และนับเป็นเวลาหลายสิบปีของการต่อสู้ที่เนิ่นนาน จากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะเอาชนะความทุกข์ยากเดือดร้อนของพสกนิกร โดยไม่เคยหยุดคิด ไม่เคยหยุดทำเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ดังที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดารห่างไกล ท่ามกลางสายฝนและเปลวแดดที่แผดร้อน ทรงงานจนกระทั่งพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า...
       
       นั่นคือช่วงเวลาที่พระองค์ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แม้ยากยิ่งที่จะเอาชนะ แต่พระองค์ก็ยังทรงหาญกล้า ฟันฝ่า และไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค ด้วยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่าเป็นการต่อสู้ที่ทรงมีพสกนิกรเป็นเดิมพัน
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแก้ปัญหาเรื่อง “น้ำ”
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีพ เพราะ “น้ำคือชีวิต” ฉะนั้นพระองค์จึงทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
       
       รวมถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดจากภัย “น้ำท่วม”
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเข้ามาเป็นผู้กำกับ เป็นหลักชัยมาเป็นเวลาหลายสิบปี พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองมาโดยตลอดด้วยความวิริยะอุตสาหะอันสูงส่งของพระองค์ท่าน แม้ตลอดเวลาที่ผันผ่านไปคือช่วงเวลาที่เพิ่มขึ้นของพระชนมายุ แม้พระราชภาระอันหนักหนาสาหัสนั้นหาใช่สิ่งที่มนุษย์ธรรมดาผู้หนึ่งจะพึงกระทำได้ครบถ้วน แม้จะประชวรและเหน็ดเหนื่อยเพียงใด แต่พระองค์ก็ไม่เคยหยุดที่จะต่อสู้กับความทุกข์ยากเดือดร้อน ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็เพื่อพสกนิกรของพระองค์
       
       โดยหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าระบบการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และทุกภาคทั่วประเทศ มีรากฐานสำคัญมาจากแนวพระราชดำริของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ที่พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2500 เศษๆ และกับ “มหาอุทกภัย” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้พระราชทานแนวพระราชดำริป้องกันน้ำท่วมเอาไว้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสถานการณ์จะเลวร้ายรุนแรงมากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่เพียงใด
       
       อีกทั้งหลายๆ เรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดันน้ำ การสร้างแนวน้ำท่วมไหลผ่าน การตัดเจาะถนน การกั้นน้ำ การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น การระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล ฯลฯ พระองค์ท่านทรงเคยให้คำอธิบายและแนวทางวิธีการทำงานเอาไว้ แต่ก็ไม่มีใครนำพา...
       
       **พระราชดำรัสในหลวงป้องกันน้ำท่วม ปี 38
       
       ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเรื่องการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2538 ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เวลา 20:40-22:45 วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2538
       
       วันที่ 18 กันยายน 2538 ฝนตกหนักในกรุงเทพฯ พายุดีเปรสชั่น Ryan ทำให้ฝนตกมากเหนือประเทศไทยและกรุงเทพฯ น้ำเหนือไหลบ่าลงมาจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ การระบายน้ำออกจากเขื่อนสิริกิติ์ทำมากกว่าเขื่อนภูมิพล สร้างปัญหาน้ำจะเข้าท่วมกรุงเทพฯปี 2538
       
       ทันทีในวันรุ่งขึ้น วันที่ 19 กันยายน 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกประชุมข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน ทรงอธิบายต่อที่ประชุมฉุกเฉินข้าราชการกรมชลประทาน (อธิบดี และรองอธิบดี -ปราโมทย์ ไม้กลัด, สวัสดิ์ วัฒนายากร, รุ่งเรือง จุลชาต), ผู้ว่าฯกทม. (กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา), ปลัด กทม. (ประเสริฐ สมะลาภา) และองคมนตรี ที่มีความชำนาญเรื่องน้ำและวิศวกรรม รวมทั้งข้าราชการผู้ชำนาญเรื่องน้ำอีกหลายท่าน ทุกคนนั่งร่วมโต๊ะประชุมแบบล้อมวงรีร่วมกับพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับสั่งให้เร่งแก้ปัญหาพร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดทางวิชาการ วิธีการทำงานป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติของน้ำ
       
       พระองค์ทรงวิจารณ์พร้อมข้อมูลสนับสนุนว่า เมื่อเกิดพายุดีเปรสชั่น Ryan ฝนตกมาก น้ำเหนือเขื่อนใหญ่ต้องระบายออก แต่ก็ทรงให้พระราชวินิจฉัยว่าปล่อยน้ำออกจาก "เขื่อนพระราชินี" (เขื่อนสิริกิติ์) มากเกินไป แต่ทำไมจึงระบายน้ำจาก "เขื่อนพระราชา" (เขื่อนภูมิพล) ออกมาน้อยมาก ที่ถูกควรเร่งระบายน้ำจาก "เขื่อนพระราชา" ให้มากกว่า "เขื่อนพระราชินี" ในเรื่องเขื่อนนั้นโครงการเขื่อนป่าสัก และเขื่อนแก่งเสือเต้นมีความสำคัญ และควรจะได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่คัดค้านโครงการแก่งเสือเต้นให้ดี
       
       ที่สำคัญ การจัดการปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่จะทะเลาะทำลายคันกั้นน้ำของกันและกัน ก็เป็นปัญหาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนไว้ด้วยความห่วงใย และย้ำให้รัฐบาลดูแลประชาชนให้ดีก่อนจะเกิดน้ำท่วม ลงทุนป้องกันมิให้เกิดน้ำท่วมจะดีกว่าประหยัดกว่าการฟื้นฟูซ่อมแซมและช่วยประชาชนเมื่อเสียหายหมดแล้วหลังน้ำท่วม
       
       ทรงแนะให้ขุดตัดถนนที่ขวางทางน้ำ ขุดใต้ทางรถไฟ หาทางให้น้ำไหลลอดออกลงคลองระบายน้ำ เพื่อให้ลงทะเลไปโดยเร็ว ทรงรับสั่งทำให้เสร็จในสามวัน ส่วนโครงการใหญ่ระยะยาวก็ทรงให้เตรียมการขุดขยายคูคลองระบบประตูระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำต่างๆ การทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาจต้องเสียสละ และอาจต้องโยกย้ายออกจากที่สาธารณะริมคลองต่างๆ หากประชาชนที่รุกที่ริมคลองไม่ร่วมมือก็อาจจำต้องบังคับใช้กฎหมายโดยดูแลประชาชนให้ดีด้วย
       
       “ขั้นแรกสำคัญ เรื่องริมทะเลต้องทำให้ได้ เพราะถ้าหากทำที่ริมทะเลแล้วสูบน้ำออกได้จริงๆ ทำให้น้ำลดลงไปในคลองริมทะเล ถ้าน้ำลดลงไปได้จริงสัก1-2 เมตร น้ำที่อยู่ข้างบนจะไหลลงมาเร็วกว่าเยอะ เราก็ใส่เครื่องสูบเร่งน้ำมา จะไม่มีท่วมเลย น้ำมีมากน้ำฟู่ลงมาเดียว บางพระซึ่งบ่นว่าไม่มีน้ำ ไม่กี่ชั่วโมง2 เมตร น้ำขึ้นมา ที่นี่ถ้าทำไปทำมาน้ำ 2 เมตร จะทำยังไง คนจะอยู่ที่ไหน ด่วนที่สุด ทำคืนนี้เลย” พระองค์ ตรัส
       
       **ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ
       
       อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรทั่วทุกภาคของประเทศ ทำให้พระองค์ตระหนักว่าภัยแล้งและน้ำเพื่อการเกษตรและบริโภคอุปโภคเป็นปัญหาที่รุนแรงและสำคัญที่สุด การจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและบริโภคอุปโภค นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเกี่ยวกับการจัดการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญต่อมนุษย์และบรรดาสิ่งมีชีวิตอย่างถ่องแท้ ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 ความตอนหนึ่งว่า “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”
       
       ทั้งนี้ การจัดการทรัพยากรน้ำโดยการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีหลักและวิธีการที่สำคัญๆ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใด ต้องเหมาะสมกับรายละเอียดสภาพภูมิประเทศแต่ละท้องที่เสมอ และการพัฒนาแหล่งน้ำต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนนั้นจะมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตาม
       
       นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ผู้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี 2520 เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนพระราชหฤทัยเรื่องน้ำมาก ทรงถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ราษฎรต้องการ เพราะไม่ว่าจะเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่ไหน ภาคอะไร เหนือ อีสาน กลาง ใต้ สิ่งที่ทอดพระเนตรเห็นคือ ราษฎรไทยส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร
       
       "พระองค์รับสั่งเสมอว่า ไปที่ไหนราษฎรร้องขออยู่ 2 อย่างคือ ถนนกับน้ำ สำหรับถนน รับสั่งว่า ถนนทำง่ายไม่ใช่ของยาก แต่น้ำ รับสั่งว่า เรื่องน้ำมันยากที่จะช่วยตัวเองได้ ก็ทรงอยากจะช่วยเขา โครงการในพระราชดำริโครงการแรกๆ ส่วนใหญ่จึงเป็นงานจัดหาน้ำ" นายปราโมทย์ กล่าว(อ่านบทสัมภาษณ์ 'ปราโมทย์ ไม้กลัด' หน้า 6-7)
       
       ทั้งนี้ พื้นที่แรกที่พระราชทานแนวพระราชดำริเริ่มต้นที่ภาคตะวันตก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นทรงขยายงานไปที่ภาคเหนือ แล้วลงมาพื้นที่ด้านล่างภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลาง โดยงานทุกภาค โครงการน้ำจะเป็นเรื่องสำคัญที่เริ่มทำก่อน และหลังจากนั้นก็จะมีโครงการด้านอื่นๆ ตามมาทีหลัง งานเรื่องน้ำทรงดูแลทั่วประเทศ ทั่วราชอาณาจักร การช่วยเหลือของพระองค์มีทั้งมาจากจดหมายร้องทุกข์ ฎีกา หรือทรงคิดเองจากแผนที่ ช่วงไหนที่ทรงมีเวลาว่างจากงานอื่นๆ จะทรงงานแผนที่ หากทรงเห็นว่าที่ไหนขาดแคลน ก็จะเสด็จฯไปช่วยเหลือ...
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตั้งแต่บนฟ้าถึงน้ำใต้ดิน ทรงมีโครงการแนวพระราชดำริตั้งแต่ฝนหลวง เขื่อน อ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำใต้ดิน ตั้งแต่ภูเขาสู่ทะเล ทรงฟื้นป่า มีฝายชะลอความชุ่มชื้น ทรงเน้นถึงการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืน ให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดไป
       
       **พระอัจฉริยภาพด้านการจัดการน้ำ
       
       อย่างไรก็ตาม หลายคนรู้ว่า "คลองลัดโพธิ์” และ “แก้มลิง" ที่กำลังทำหน้าที่บรรเทาปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ มาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำ หรือคลองต่างๆ ที่กำลังทำหน้าที่ระบายน้ำอยู่ในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ ขณะนี้ ก็เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกัน
       
       ทำให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงห่วงใยและไม่เคยทอดทิ้งประชาชน
       
       ทั้งนี้ นับตั้งแต่อดีตที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่มาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปี 2523, 2526, 2538 ทุกครั้งที่มีสถานการณ์เช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงห่วงใยทุกเข็ญของราษฎรผู้ประสบความเดือดร้อน พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนเพื่อก่อให้เกิดขวัญกำลังใจทั้งแก่คณะผู้ปฏิบัติงานและผู้ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งทอดพระเนตรสภาพน้ำตามลำคลองต่างๆ ด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงศึกษาแนวทางและวิธีแก้ไขให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว อันจะเป็นวิถีทางบรรเทาความทุกข์ของราษฎรให้เหลือน้อยที่สุด
       
       โดยในกรุงเทพฯ งานเรื่องน้ำจะเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ซึ่งปีนั้นกรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าประชาชนเดือดร้อน พระองค์ประทับทั้งเฮลิคอปเตอร์และรถยนต์ทรงตรวจสภาพน้ำตามที่ต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยปีนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานหลักคิดหลักทำเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในที่สุดก็บังเกิด โครงการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
       
       จนกระทั่งถึงปี 2526 น้ำท่วมกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง และเฉกเช่นครั้งก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงนิ่งนอนพระราชหฤทัย เสด็จฯ ออกตรวจสภาพน้ำทั้งทางบกและทางอากาศ ในปีนั้นทรงกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง
       
       ตั้งแต่นั้นมา โครงการป้องกันน้ำท่วมในพระราชดำริจึงเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำหลากเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ, ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในคลองระบายน้ำต่างๆ, ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ, จัดให้มีพื้นที่สีเขียว (กรีน เบลท์) เพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อมีน้ำหลาก, ขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิมและขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ, สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่างๆ และขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง
       
       แนวพระราชดำริเรื่องน้ำช่วยกรุงเทพฯ มาตลอด อย่าง “คลองลัดโพธิ์” น้ำท่วมปีนี้ก็ช่วยได้เยอะ โดยช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลสะดวกรวดเร็วขึ้น ร่นระยะทางการไหลของน้ำ จาก 18 กิโลเมตรให้เหลือ 600 เมตร รวมทั้งร่นระยะเวลาการเดินทางของน้ำจาก 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 10 นาทีเท่านั้น
       
       **เห็นราษฎรทุกข์ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทุกข์ด้วย 
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยคนไทยทุกภาคทุกส่วนของประเทศ ประชาชนมีความทุกข์ที่ไหน เมื่อทรงทราบพระองค์จะเสด็จฯไปแก้ปัญหาให้ทั่วทุกภาค อย่างปัจจุบันที่ “มหาอุทกภัย” กลืนกินประเทศไทยไปครึ่งค่อนประเทศ ถ้าเป็นอดีตที่ยังทรงแข็งแรง พระองค์คงไม่รีรอที่จะออกช่วยเหลือประชาชน แม้ตอนนี้พระองค์จะประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราช แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพระองค์คงจะมีรับสั่งให้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างแน่นอน
       
       เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงรักประชาชนเหมือนลูกหลาน เมื่อเห็นราษฎรทุกข์ พระองค์ก็ทรงทุกข์ด้วย จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่หัวใจของปวงชนชาวไทยทุกคนแล้ว เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีรับสั่งถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 และ 11 พฤศจิกายน ว่า ทรงห่วงใยประชาชนเรื่องน้ำท่วม ทำให้ทรงเครียดจนประชวร ถ่ายเป็นเลือดถึง 800 ซีซี ความดันตกมากอยู่ในภาวะทรงช็อก
       
       "พระองค์ดูข่าวน้ำท่วมติดต่อกันถึง 5 ชั่วโมงเต็มๆ ทรงเครียด ดูแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรักประชาชนเหมือนลูกเหมือนหลานจริงๆ เมื่อเห็นราษฎรทุกข์ ก็ทรงทุกข์ด้วย ทุกข์เหลือเกิน...
       
       "อยากให้ทราบว่า ใจพระองค์ท่านอยู่กับประชาชนเสมอ"
       
       ลองคิดดูว่า วันนี้ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่นำมาซึ่งความเสียหายมากมาย แต่หากไม่มีพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงวางรากฐานป้องกันน้ำท่วมเอาไว้ ไม่รู้ว่าป่านนี้ประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาพเช่นไร !?
       
       **ทรงซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกเตรียมให้ชาวนาปลูกหลังน้ำท่วม
       
       เนื่องในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีมหามงคล5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 7 รอบ 84 พรรษา โดยก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยประกาศจะจัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่อลังการ แต่เมื่อบ้านเมืองเกิดภาวะน้ำท่วม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับสั่งไม่ให้จัดงานใหญ่โต
       
       อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต่างก็พร้อมกันแสดงความจงรักภักดีในรูปแบบต่างๆ ตามภาวะที่เหมาะสม รวมถึง “ดี้ - นิติพงษ์ ห่อนาค” นักแต่งเพลงชื่อดังและผู้บริหารค่ายเพลงสหภาพดนตรี ก็เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ประกาศเฉลิมฉลองปีมหามงคลตั้งแต่ต้นปีด้วยการเตรียมออกอัลบั้มเทิดพระเกียรติ “ทองผืนเดียวกัน” โดยรวบรวมเอาศิลปินหลายๆ ค่ายมาร่วมร้องเพลงในอัลบั้มชุดนี้ โดยรายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่าย และจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
       
       ทั้งนี้ นักแต่งเพลงชื่อดังบอกว่า มีโอกาสได้ถวายงานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในส่วนประธานประชาสัมพันธ์มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก ทำให้รับรู้เรื่องราวต่างๆ มากมาย จึงอยากจะเชิญชวนประชาชนร่วมกันเป็นแรงพระทัยให้กับในหลวงซึ่งกำลังประชวร และเป็นห่วงประชาชนที่กำลังน้ำท่วม และถึงแม้ปีนี้ในหลวงจะรับสั่งไม่ให้จัดงานใหญ่โต แต่ก็ควรระลึกถึงในหลวงให้มากยิ่งขึ้น ทำในสิ่งที่ดีเพื่อตอบแทนสิ่งที่ในหลวงทรงดูแลประชาชนมาอย่างยาวนาน
       
       “ท่านทรงเป็นห่วงประชาชนมากไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรกับประชาชน อย่างน้ำท่วมนี่ท่านทรงเปิดทีวีเต็มห้องเลย ห้องประทับควรจะเป็นห้องคนไข้ แต่ท่านก็เป็นห่วงประชาชนเปิดทีวีเต็มไปหมด เสพข่าวสารจนเครียดอย่างที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงบอก ขนาดผมเองร่างกายแข็งแรงน้ำก็ไม่ได้ท่วมบ้านแต่ก็เครียด แล้วพระองค์ท่านจะขนาดไหน นี่คือสิ่งที่พวกเราควรระลึกถึงท่านบ้าง”
       
       อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลเตรียมทำเมกะโปรเจกต์กู้เงินมหาศาลจำนวน “แสนล้าน” ดี้บอกว่า ในหลวงทรงเตรียมซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชาวนา เพราะรู้ว่าน้ำท่วมแบบนี้ในฤดูกาลทำนาครั้งหน้าเมล็ดพันธุ์จะหายากและมีราคาแพง
       
       “สำหรับรายได้ในการทำอัลบั้มเทิดพระเกียรติครั้งนี้เป็นการถวายพระองค์ท่านโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งทราบว่าเงินที่ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย พระองค์ท่านจะนำเข้ามูลนิธิชัยพัฒนา ซื้อพันธุ์ข้าวเปลือก ตอนนี้ท่านซื้อเก็บไว้เป็นโกดังๆ ไว้ในห้องทรงงานเต็มไปหมด เพราะเตรียมไว้เวลาน้ำแห้งจะได้พระราชทานให้กับประชาชน ซึ่งไม่รู้ตรงนี้รัฐบาลได้คิดเตรียมอะไรไว้บ้างหรือยัง...” ดี้ให้ความเห็น
       
       หากย้อนกลับไป แนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานหลักคิดหลักทำไว้ตั้งแต่ปี 2523 หรือปี 2538 มีมากมายที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ ถูกต้อง และสอดคล้องกับธรรมชาติปัจจุบัน ซึ่งน่าจะน้อมนำมาใช้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในอนาคต รวมถึงแนวคิดและโครงการในพระราชดำริต่างๆ มากมายที่พระองค์ได้พระราชทานไว้
       
       พระองค์ทรงเป็นหลักชัยที่ทำให้พสกนิกรชาวไทยมีแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข บนหลักของความมีเหตุผลและ "พอเพียง" อย่างแท้จริง
       
       ขอพระองค์ทรงพระเจริญ


 


ขอบคุณข้อมูล ผู้จัดการสุดสัปดาห์
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000154041